วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปอยส่างรอง

                                                                                             
      เมื่อลมร้อนมาถึง ฤดูกาลปิดเทอมก็เริ่มขึ้น และยังเป็นจุดเริ่มต้นของเด็กผู้ชายอีกหลายคน ที่บวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน แต่เด็กๆ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ได้มีงานบวชแบบธรรมดาๆ เพราะที่นี่มีพิธีบวชที่เรียกว่า ปอยส่างลอง ที่เฉลิมฉลองงานบุญกันข้ามวันข้ามคืน
ปอยส่างลองคืออะไร?  มีความหมายและความสำคัญมากแค่ไหน? ทำไมจึงเป็นประเพณีที่คนไต หรือชาวไตใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังยึดมั่นและสืบทอดกันมานับร้อยปี จากรุ่นสู่รุ่น…กบนอกกะลาเดินทางผ่านโค้งถึง 1,864 โค้ง เพื่อมาร่วมงานบุญที่เรียกว่า ปอยส่างลอง หรือที่คนเมือง หรือคนในภาคเหนือ เรียกว่าบวชลูกแก้ว…ตามติดตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงาน ทั้งการเตรียมตัวของเด็ก ที่จะเข้าเป็นส่างลอง และชาวบ้านในหมู่บ้าน ที่มาร่วมแรงร่วมใจ เตรียมข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงอาหารที่ใช้รับแขกในงานที่จะมีขึ้น 5 วัน


zzzzzzzzzz1.jpg
วันแรกของพิธีปอยส่างลอง เริ่มต้นด้วยการโกนผม  ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่เด็กซนๆ คนนึงจะเข้าสู่การเป็นส่างลอง จนกระทั่งเข้าสู่วันที่ 2 ที่บรรดาเด็กๆ ต้องแต่งตัวเป็นส่างลองกันตั้งแต่ตี 4 โดยมีคติธรรมความหมาย ซ่อนอยู่ในการแต่งองค์ทรงเครื่องว่า ทำไมส่างลองต้องแต่งกาย และมีเครื่องประดับมากมายขนาดนี้ จากนั้นมีการแห่ส่างลอง ไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้านทั่ว ตั้งแต่วันที่ 2 จนถึงวันที่ 3 จนขอขมาทั่วทุกหลังคาเรือน และเมื่อถึงวันที่ 4 เป็นวันแห่ครัวหลู่ ถือกันว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุด ซึ่งทุกคนทั้งเด็ก วัยรุ่น คนเฒ่าคนแก่ ก็จะมาร่วมขบวนแห่กันถ้วนหน้า มีงานเฉลิมฉลองกันข้ามคืน ชาวบ้านในหมู่บ้าน จะเดินสายช่วยงานไปทุกบ้านที่มีส่างลอง เรียกได้ว่าทุกคนทุ่มเทเวลา ให้กับงานบุญในครั้งนี้

จนสุดท้ายเข้าสู่วันที่ 5 เป็นเวลาที่ส่างลอง จะได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งพระพุทธศาสนา เปลี่ยนชุดที่เคยแต่งองค์ทรงเครื่อง มาเป็นจีวรเหลืองที่มีมนต์ขลัง แต่นี่นับเป็นเพียงก้าวแรกของสามเณรน้อย ที่นับจากนี้ต้องบวชเรียน เพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ รวมทั้งเรียนรู้การทำกรรมดี เพื่อเป็นเด็กดีกลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ต่อไป ติดตามเรื่องราวอิ่มบุญ ที่มีทั้งความสนุกสนาน ครื้นเครงของงานปอยส่างลอง และสะท้อนแรงศรัทธาของวิถีชาวไทใหญ่ ที่ยังคงยึดมั่นในการทำบุญได้
 
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น