วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ไก (สาหร่ายน้ำจืด)

ไก (สาหร่ายน้ำจืด)
                  ถ้าพูดถึงสาหร่ายที่ชาวบ้านในแถบภาคเหนือนำมาปรุงเป็นอาหารแล้วล่ะก็   แน่นอนว่าทุกครอบครัวที่เป็นคนเหนือแท้ ๆ จะรู้จักอาหารจานเด็ดที่เรียกกันว่า    "ยำเตา" อาหารจานนี้ทำมาจากสาหร่ายเตา  ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวสด  มีลักษณะเป็นเส้นสาย  มีเมือก-ลื่น ๆ  ล้างให้สะอาด  แล้วนำมาใส่เครื่องยำ    ซึ่งได้แก่  มะเขือแจ้หรือมะเขือพวงลูกเล็ก ๆ หั่นเป็นแว่น  ตะไคร้ซอย  หอมแดงซอย  พริกขี้หนูซอย  น้ำมะนาว  น้ำปลา  บางแห่งอาจใส่น้ำปู  ปลาต้มหรือปลาย่างลงไปด้วย  แล้วรับประทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ อร่อยอย่าบอกใคร!   แต่สำหรับคนน่านและคนเชียงของ  จังหวัดเชียงราย  เขามีสาหร่าย ไก   ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียว  มีลักษณะเป็นเส้นสายคล้ายสาหร่ายเตา  มาเป็นอาหารอย่างหรูเริ่ดกว่า  เพราะในปัจจุบันเขาพยายามจะแปรรูปสาหร่าย  ไก  เป็นอาหารหลากชนิด  เพื่อหาตลาดที่สามารถจำหน่ายได้กว้างขวางขึ้น  เพื่อให้เป็นอาชีพที่มั่นคงของชาวบ้านในละแวกนั้น ๆ ทีเดียว
               “ไก  เป็นสาหร่ายน้ำจืดที่ขึ้นอยู่บนก้อนหินในน้ำไหลเอื่อย ๆ  ที่ค่อนข้างใสและเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี    ไก  มีลักษณะเป็นเส้นสายยาวสีเขียวสด  พบมากในฤดูหนาวจนถึงฤดูฝน  ระหว่างเดือนพฤศจิกาถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี  แหล่งน้ำบริเวณที่มีสาหร่ายไกมาก
เป็นพิเศษในประเทศไทยนั้นมี 
2  แหล่ง  คือ 
 
               -  แม่น้ำน่าน  จังหวัดน่าน  ตั้งแต่ต้นน้ำที่อำเภอทุ่งช้างเรื่อยไปจนถึงแม่น้ำ น่าน   
                   อำเภอเวียงสา  แต่จะมีมากที่สุดที่อำเภอท่าวังผา
   -  แม่น้ำโขง  บริเวณอำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย 
      “ไก  จะมีอยู่ 3 ชนิด  คือ
1.  ไกเหนียวหรือไกค้าง  มีสีเขียวเข้มยาว ไม่แตกแขนง เนื้อไม่ฟู มีน้ำหนักพอสมควร
      ยาวประมาณ 2     เมตร
2.  ไกเปื้อยหรือไกไหม  เกาะหินเป็นกระจุกแล้วกระจาย แผ่ออกไปเป็นเส้นเล็กฝอยมีจำนวนเส้นมาก  
     เส้นเหนียวและลื่น สีเขียวซีดยาวประมาณ 80 เซนติเมตร
3.  ไกต๊ะ  ลักษณะออกเป็นกระจุกอยู่ปนกับไกไหม เส้นสั้นและมีความลื่นมาก
                    การเก็บสาหร่ายไกจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น  ชาวบ้านจะรอให้สาหร่ายเจริญเต็มที่ซึ่งจะมีขนาดยาวมากตั้งแต่ครึ่งเมตร  ไปจนถึง  4 - 5  เมตร  โดยการ  "จกไก" ซึ่งก็คือ  การดึงสาหร่ายที่มีขนาดยาวพอเหมาะออกจากก้อนหินแล้วส่ายไปมาในน้ำให้ดินหรือสิ่งที่เกาะมาหลุดออกไป  พาดไว้บนท่อนแขน  สะสมไปเรื่อย ๆ จนมากพอก็จะม้วนให้เป็นกลุ่มก้อน  นำไปตากหรือแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ต่อไป
                     จากความมากมายของสาหร่ายไกในลำน้ำน่านและลำน้ำโขงนี้เอง  ทำให้เกิดภูมิปัญญาชาวบ้าน  นำสาหร่ายเหล่านี้ไปแปรรูปเป็นอาหารมากว่า 100 ปี  อาหารดั้งเดิมที่ชาวบ้านทั้ง 2 แหล่งน้ำ  ทำมาจากสาหร่ายชนิดนี้  คือ  ไกยี   และ  "ห่อนึ่งไก   ซึ่งมีหน้าตาคล้าย ๆ กันทั้ง 2 ชุมชน    ไกยี  นั้นทำได้โดยนำสาหร่ายไกมาตากให้แห้ง  แล้วนำมาผิงไฟให้กรอบ  จากนั้นก็ใช้มือบดขยี้  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  ยี  ให้สาหร่ายแตกออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ หรืออาจจะให้เล็กจนเกือบป่นเลย  หลังจากนั้นนำมาปรุงรสด้วย  เกลือ  และงาขาวคั่ว  จะได้  ไกยี”  ที่มีรสชาติดี  หอมทั้งกลิ่นธรรมชาติของสาหร่ายและงาคั่วรสเค็มปะแล่ม ๆ ทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ  ส่วนห่อนึ่งไกนั้นทำคล้ายกับห่อหมก  เพียงแต่เปลี่ยนจากปลามาเป็นสาหร่ายไกสด  คลุกกับน้ำพริกแล้วนำไปนึ่งก็อร่อยไม่แพ้ห่อหมกเลยจริง ๆ ต่อมาก็มีการประยุกต์โดยการแปรรูปสาหร่ายไกให้เป็นสาหร่ายแผ่นกรอบ โดยนำสาหร่ายไกที่ตากแห้งปรุงรสด้วยเกลือ  กระเทียม  มาทอดให้กรอบ  สามารถจำหน่ายได้และขายดีทีเดียว  ข้าวเกรียบไกก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่ง  ซึ่งปรุงง่ายและขายง่าย  นอกจากนี้ยังมีบะหมี่ไก  ข้าวตังหน้าสาหร่ายไก  กะหรี่ปั๊บไส้สาหร่ายไก  คุกกี้สาหร่ายไก  กรอบเค็ม  กล้วยตากผสมสาหร่ายไ  หรือแม้กระทั่งน้ำพริกไก  ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกอย่างก็ได้ทยอยออกมาจำหน่าย  แต่เป็นการจำหน่ายภายในชุมชน  ตัวเมือง  หรือภายในจังหวัดที่ตนเองอยู่  บางครั้งอาจมีการจำหน่ายไปยังจังหวัดอื่น ๆ แต่ก็ไม่บ่อยนัก  และมักจะเป็นช่วงสั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ออกมายังต้องมีการปรับปรุงบ้างในเรื่องคุณภาพ  ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน  มักจะหายกรอบหรือมักจะมีกลิ่นหืน  รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยังมีความหลากหลายเฉพาะกลุ่ม  ซึ่งต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายในกลุ่มอื่น ๆ ให้มากขึ้น  และเพื่อจำหน่ายได้กว้างขวางกว่าปัจจุบัน
                  คุณค่าของสาหร่ายไก  มีปริมาณโปรตีนสูงกว่าปลาน้ำจืดทั่วไป  ทดแทนการกินปลาได้เป็นอย่างดี  และที่โดดเด่นคือ มีซิลีเนียม  ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระสูงมาก  มีเบต้าแคโรทีนที่มากกว่าแครอทถึง 4 เท่า  ช่วยลดคลอเลสเตอรอลจึงไม่ทำให้อ้วน  นอกจากนั้น  ชาวบ้านมีความเชื่อว่า  การทานสาหร่ายไกนี้  จะทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย  ผมดกดำ  ไม่หงอกง่าย  และชะลอความแก่
                  ถ้ามองด้านสรรพคุณทางยาก็จะพบว่าสาหร่ายไก  มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ  ขยายหลอดลม  ต้านการอักเสบ ระงับปวด  และลดความดันโลหิตได้ด้วย  ซึ่งสรรพคุณดังกล่าวน่าสนใจมากทีเดียว
                   เมื่อรู้คุณค่าและประโยชน์ของสาหร่ายไกดังนี้แล้ว  ก็ขอเชิญชวนทุกท่านหันมาบริโภคสาหร่ายไกกันให้มากยิ่งขึ้น   เพราะเป็นผลดีทั้งต่อผู้บริโภคเองและผู้ผลิตในชุมชนด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น